PDPA คืออะไร ?
PDPA ย่อมาจาก Personal Data Protection Act B.E. 2562 (2019) คือพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ.2562 เป็นกฎหมายว่าด้วยการให้สิทธิ์กับเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล สร้างมาตรฐานการรักษาข้อมูลส่วนบุคคลให้ปลอดภัย และนำไปใช้ให้ถูกวัตถุประสงค์ตามคำยินยอมที่เจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลอนุญาต โดยกฎหมาย PDPA Thailand (พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล) ได้ประกาศไว้ในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2562 และปัจจุบันได้ถูกเลื่อนให้มีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มิถุนายน 2565
ทุกวันนี้ระบบดิจิทัลหรือระบบเครือข่ายออนไลน์กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันของเราไปแล้ว มีแพลตฟอร์มมากมายให้เลือกใช้ และหลากหลายช่องทางในการติดต่อสื่อสารเพื่อวัตถุประสงค์ต่าง ๆ โดยแต่ละช่องทางที่เราใช้งานก็จะมีการเก็บข้อมูลส่วนบุคคลของเราก่อนเข้าใช้งานด้วย เช่น ชื่อ นามสกุล , Email , เบอร์โทรศัพท์, ที่อยู่ หรือข้อมูลส่วนตัวอื่น ๆ ตามแต่ที่เจ้าของช่องทางเรียกขอข้อมูล
ทั้งนี้ทั้งนั้น การที่เราจะให้ข้อมูลส่วนบุคคลใครไป ต้องมีการพิจารณาว่าให้ใครและให้เพราะอะไร? ยกตัวอย่างเช่น หากเราจะสั่งซื้อของออนไลน์ เราก็ยินยอมที่จะให้ข้อมูลส่วนตัว ชื่อ นามสกุล ที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์ในการติดต่อ เพื่อใช้ข้อมูลเหล่านี้ในการส่งสินค้ามาให้เรา ซึ่งเป็นข้อมูลส่วนบุคคลที่สามารถเข้าใจได้และยินยอมที่จะให้ไปเพื่อส่งสินค้ามายังเรา หรือว่า ข้อมูลส่วนบุคคลที่ให้ต่อบริษัทเพื่อสมัครเข้าทำงาน
แต่เราจะรู้ได้อย่างไร? ว่าข้อมูลที่ให้ไปนั้นจะถูกใช้เพื่อวัตถุประสงค์นั้นจริง ๆ และไม่นำข้อมูลส่วนตัวของเราไปใช้เพื่อผลประโยชน์อื่นใด ที่นอกเหนือความยินยอมของเรา
PDPA หรือ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 ที่บังคับใช้ในประเทศไทยนี้ จะมีบทบาทในการคุ้มครองและให้สิทธิที่เราควรมีต่อข้อมูลส่วนบุคคลของเราเองได้ รวมไปถึงการสร้างมาตรฐานของบุคคลหรือนิติบุคคลในการเก็บ รวบรวม หรือเพื่อการเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลก็ตาม ซึ่งล้วนแล้วเกี่ยวข้องกับ พ.ร.บ. ฉบับนี้ที่จะต้องปฏิบัติตาม หากผู้ใดหรือองค์กรใดไม่ปฏิบัติตามย่อมมีบทลงโทษตามกฎหมายตามมา ซึ่งบทลงโทษนั้น มีทั้งโทษทางแพ่ง อาญา และทางปกครองด้วย
ดังนั้น PDPA ที่จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มิถุนายน 2565 นี้ ก็นับว่าเป็นกฎหมายที่เราทุกคนควรทราบและตระหนักรู้ถึงสิทธิในข้อมูลส่วนบุคคลของเรา โดยเฉพาะอย่างยิ่งองค์กร บริษัท ห้างร้าน หรือแพลตฟอร์มต่าง ๆ ที่มีการเก็บข้อมูลส่วนบุคคล ไม่ว่าจะเป็นลูกค้า ผู้ใช้งาน หรือจะเป็นพนักงานที่ทำงานภายในองค์กรเองก็ตาม
องค์กรต่าง ๆ จึงได้รับผลกระทบพอสมควรกับการประกาศใช้ PDPA เพื่อเพิ่มมาตรฐานนโยบายการรักษาข้อมูลส่วนบุคคลให้ปลอดภัยและนำไปใช้ให้ถูกวัตถุประสงค์ตามคำยิมยอนที่เจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลได้ให้ไว้ และที่สำคัญต้องสอดคล้องต่อ PDPA ด้วย ทำให้กระบวนการทำ PDPA ไม่ใช่เรื่องที่ง่ายสักทีเดียว ที่เราจะทำได้ภายในระยะเวลาอันสั้น โดยเฉพาะองค์กรขนาดใหญ่ที่มีการเก็บรวบรวมข้อมูลส่วนบุคคลและมีการนำข้อมูลส่วนบุคคลไปใช้เป็นจำนวนมาก
อย่างไรก็ตาม บุคคลหรือองค์กรต่าง ๆ ก็ต้องดำเนินการกับข้อมูลส่วนบุคคลเพื่อให้สอดคล้องกับ PDPA ให้เรียบร้อย เพราะกฎหมายฉบับนี้ไม่ว่าอย่างไรอย่างไรก็จะมีผลกระทบต่อผู้ที่เกี่ยวข้องกับข้อมูลส่วนบุคคลอย่างแน่นอน จึงควรเริ่มทำตั้งแต่เนิ่น ๆ ไว้ เพื่อป้องกันปัญหาที่จะอาจตามมาทางด้านกฎหมาย ซึ่งจะมีผลเสียหายต่อองค์กร หากวันใดวันหนึ่งเกิดมีข้อมูลรั่วไหล หรือเผลอนำข้อมูลส่วนบุคคลไปใช้อย่างไม่ถูกต้องแล้ว บุคคลหรือองค์กรที่ไม่ได้ดำเนินการตาม PDPA ไว้ ย่อมเสียหายร้ายแรงกว่าผู้ที่ดำเนินการไว้แล้ว และผู้รับโทษตามกฎหมายก็อาจเป็นเจ้าของกิจการที่ต้องรับโทษแทนพนักงานเองก็เป็นได้ จึงนับว่าผู้นำองค์กรก็ควรตระหนักและให้ความใส่ใจต่อการทำ PDPA เป็นอย่างยิ่ง